รับประทานอัลมอนด์อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขอแนะนำให้กินแบบ “อัลมอนด์แช่น้ำ” ทั้งนี้ จากการศึกษาเรื่องการบริโภคอัลมอนด์แช่น้ำ ของ สุตานันท์ ธนาธันย์นิธิป นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการเสริมสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพจากนวัตกรรม (Pilot Plant) มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า หากแช่น้ำอัลมอนด์ก่อนนำมารับประทาน จะช่วยให้การบดเคี้ยวและการย่อยอัลมอนด์ได้ง่ายขึ้น ฟังอย่างนี้แล้วเรามาดูถึงวิธีการเตรียมกัน ว่าทำอย่างไรบ้าง
ขั้นตอนการเตรียมง่ายๆ สำหรับท่านที่ต้องการรับประทานอัลมอนด์แช่น้ำ
1.ใส่อัลมอนด์ลงในภาชนะแก้วที่สะอาด
2.ใส่น้ำดื่มสะอาด 2 ถ้วย ต่ออัลมอนด์ครึ่งถ้วย
3.แช่ไว้ข้ามคืน
4.เช้าวันรุ่งขึ้นเทน้ำออก และเก็บในภาชนะปิดสนิท หรือถุงพลาสติก แล้วเอาเข้าตู้เย็นทันทีหากยังไม่บริโภค
5.การเก็บในภาชนะที่สะอาดและมิดชิดจะเก็บได้นาน 1 สัปดาห์ หากอยากให้ได้ประโยชน์มากขึ้น การทำอัลมอนด์งอก เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
ขั้นตอนการทำอัลมอนด์งอก
ขั้นตอนการทำไม่แตกต่างจาก “อัลมอนด์แช่น้ำ” โดยแช่อัลมอนด์ข้ามคืน ประมาณ 10-12 ชั่วโมง จากนั้นเทน้ำออก ล้างให้สะอาดอีกครั้ง และเก็บในภาชนะดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อนำไปแช่ในตู้เย็นไว้อีก 1-3 วัน จะเห็นอัลมอนด์ต้นอ่อนงอกออกมา ซึ่งเป็นวิธีที่แน่ใจที่สุดว่าเอนไซม์ lipase ได้ออกมาเพื่อเตรียมย่อยไขมันกันแล้ว
อัลมอนด์ จัดว่ามีสารอาหารมากที่สุดหากเทียบกับถั่วเปลือกแข็งทั้งหมด การบริโภคอัลมอนด์ดีต่อสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะการบริโภคอัลมอนด์ที่แช่น้ำ เต็มไปด้วยวิตามินอี โปรตีน แร่ธาตุแมกนีเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส ไนอะซิน และกรดไขมันไม่อิ่มตัว ชนิดโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6
นอกจากนี้ อัลมอนด์แช่น้ำยังดีต่อสุขภาพในด้านต่างๆ คือ
1.ช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้น เพราะเมื่อแช่อัลมอนด์ตัวยับยั้งเอนไซม์ซึ่งป้องกันการงอกของเมล็ดจะถูกทำลายไป ทำให้ร่างกายย่อยอัลมอนด์ได้ง่ายขึ้น การแช่น้ำอัลมอนด์ยังช่วยให้ปล่อยเอนไซม์ lipase ออกมาย่อยพวกไขมันด้วย
2.ช่วยลดน้ำหนัก ไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวในอัลมอนด์จะช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้การรับประทานอาหารลดลง ซึ่งมีผลต่อน้ำหนัก
3.ป้องกันการเกิดโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ โดยช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ดีเยี่ยม เพราะไปเพิ่มไขมันที่มีความหนาแน่นสูง high density lipoprotein (HDL) ที่มีสัดส่วนของโปรตีนประมาณ 50% ซึ่งเป็นไขมันที่ดีสำหรับหลอดเลือดแดง เพราะจะป้องกันไม่ให้ไขมันที่ไม่ดี คือ คอเลสเตอรอล, ไตรกลีเซอไรด์ และ LDL (lower density lipoprotein) ไปพอกสะสมในหลอดเลือดแดง ถ้ามีระดับ HDL ในเลือดต่ำ ก็จะเพิ่มโอกาส เพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ และอัลมอนด์ที่แช่น้ำยังไปลด LDL อีกด้วย ทั้งยังลดการอักเสบของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจ folic acid ในอัลมอนด์ช่วยสลายการอุดตันของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจ และได้วิตามินอี สารต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจอีกด้วย
4.ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง อัลมอนด์แช่น้ำประกอบไปด้วยวิตามินบี 17 ซึ่งจำเป็นมากสำหรับการต่อสู้กับมะเร็ง ทั้งวิตามินอี และไขมันอิ่มตัวต่ำในอัลมอนด์ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ยิ่งไปกว่านั้นยังลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมอย่างมีนัยสำคัญ เพราะสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่พบในอัลมอนด์แช่น้ำจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกได้
5.ป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและช่วยลดความดันโลหิต โดยช่วยลดระดับน้ำตาลและเพิ่มความดันเลือด อัลมอนด์เป็นอาหารที่มีแคลอรีต่ำซึ่งจะช่วยลดปริมาณโซเดียม อินซูลิน และน้ำตาลในเลือด และยังไปเพิ่มการป้องกันจากสารอนุมูลอิสระและแมกนีเซียม ซึ่งทำให้ไม่เสี่ยงต่อเบาหวานและความดันโลหิตสูง และ 6.อัลมอนด์แช่น้ำดีสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะประกอบไปด้วย folic acid ที่จะไปลดอัตราการเกิดความผิดปกติของทารกแรกคลอด
นอกจากอัลมอนด์แล้วถั่วและธัญพืชอื่นๆ ก็ให้ประโยชน์จากการนำมาแช่น้ำได้เช่นกัน เช่น วอลนัท ถั่วพีแคน
ในหลายๆ สูตรของอาหารดิบ (Raw Food) เรียกการทำลักษณะนี้ว่าถั่วแช่ มีเหตุผลหลายประการสำหรับการแช่ถั่วตั้งแต่รสชาติไปจนถึงคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น บางครั้งก็เป็นเพียงการเตรียมอาหารให้นุ่มพอที่จะผสมผสานได้อย่างราบรื่นมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องการเคี้ยว การแช่ถั่วและธัญพืชก็ช่วยให้เคี้ยวและย่อยง่ายขึ้น