Description
ชื่อสินค้า : เมล็ดเจีย
ส่วนประกอบ : เมล็ดเจีย 100%
น้ำหนัก : 100 กรัม
บรรจุภัณฑ์ : ถุงคราฟท์ มีซิปล๊อค
Product Name : Chia Seed
Ingredients : Chia Seed100%
Net Weight : 100 g
Packaging : Craft Bag
สอบถามเพิ่มเติม
Inbox ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
Line id: @nutsmaker อย่าลืมพิมพ์ @ ด้วยนะ
Facebook : nutsmaker
เมล็ดเจีย ประโยชน์ดีต่อสุขภาพ
เมล็ดเจีย (Chia Seeds) เป็นเมล็ดธัญพืชชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กคล้ายเม็ดแมงลัก ลักษณะเป็นรูปไข่ มีสีหลากหลาย เช่น สีขาว สีดำ บางครั้งมีลายเป็นจุดสีน้ำตาล น้ำตาลเข้ม สีครีม ดำ และขาว สามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแปรรูป และด้วยรสชาติอ่อน ๆ คล้ายถั่ว เข้ากับอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ง่าย จึงนิยมนำมาโรยบนเมนูต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย เช่น ซีเรียล สลัดผัก เมนูข้าว เมนูขนมปังอบทั้งหลาย หรือจะผสมกับโยเกิร์ตและเมนูเครื่องดื่มก็ได้
เมล็ดเจียอุดมด้วยสารอาหารสำคัญอย่างกรดไขมันโอเมก้า 3 คาร์โบไฮเดรต โปรตีน เส้นใยอาหาร แคลเซียม และสารต้านอนุมูลอิสระ หากเปรียบเทียบสารอาหารในเมล็ดเจียเพียงประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ จะประกอบด้วยพลังงานประมาณ 139 แคลอรี่ โปรตีน 4 กรัม ไขมัน 9 กรัม คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม เส้นใยอาหาร 11 กรัม รวมทั้งวิตามินและแร่ธาตุอีกมากมาย
ด้วยสารอาหารทรงคุณค่าเหล่านี้เองที่ทำให้เชื่อกันมากว่าเมล็ดเจียอาจช่วยรักษาโรคหรือบำรุงสุขภาพในด้านต่าง ๆ แต่ก็เช่นเดียวกับอาหารและสมุนไพรหลากหลายชนิดที่ล้วนยังไม่มีการศึกษามากพอจนสามารถระบุคุณประโยชน์ได้อย่างชัดเจน โดยปัจจุบันคุณประโยชน์ของเมล็ดเจียที่พอจะมีงานวิจัยกล่าวถึง มีดังนี้
ช่วยลดน้ำหนัก คุณประโยชน์ยอดนิยมข้อนี้ถูกกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย เพราะด้วยคุณสมบัติพองตัวออกเมื่อถูกแช่ในน้ำ ทำให้เชื่อว่าเมล็ดเจียที่รับประทานเข้าไปนั้นจะขยายตัวภายในท้อง จนรู้สึกอิ่มและรับประทานได้น้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักลดลงในที่สุด อีกทั้งมีเส้นใยอาหารและกรดอัลฟาลีโนเลนิก (Alpha-linolenic) ที่คาดว่าอาจมีส่วนช่วยลดน้ำหนัก ไขมัน และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจากภาวะอ้วน
การศึกษาหนึ่งทดลองโดยให้อาสาสมัครทั้งชายและหญิงที่มีภาวะอ้วนแต่สุขภาพดี จำนวน 76 คน อายุตั้งแต่ 20-70 ปี แบ่งกลุ่มรับประทานยาหลอกหรือเมล็ดเจีย 25 กรัม ผสมในน้ำ 0.25 ลิตร วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารมื้อแรกและมื้อสุดท้ายของวัน ติดต่อนาน 12 สัปดาห์ ผลลัพธ์ไม่ปรากฏว่าเมล็ดเจียช่วยให้ดัชนีมวลกายหรือองค์ประกอบร่างกายดีขึ้น รวมถึงปัจจัยการเกิดโรคต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในช่วงหลังที่พบผลลัพธ์ไปในทางที่ดีก็มีให้เห็นเช่นกัน ดังงานวิจัยหนึ่ง พบว่าการรับประทานเมล็ดเจียวันละ 35 กรัม นาน 12 สัปดาห์ ช่วยให้หญิงและชายจำนวนหนึ่งลดน้ำหนักและขนาดรอบเอวลงได้ โดยมีระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมลดลง มีไขมันชนิดดีเพิ่มขึ้น แต่ก็เฉพาะในกลุ่มที่รับประทานเมล็ดเจียบดและมีค่าเริ่มต้นผิดปกติ ส่วนระดับน้ำตาลในเลือด ไขมันไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดไม่ดีนั้นไม่พบการเปลี่ยนแปลง
เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยที่เจาะจงทดลองกับเมล็ดเจียชนิดซัลบา ด้วยการให้ผู้ป่วยภาวะอ้วนที่มีโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 77 คน จำกัดการรับประทานอาหารแคลอรี่สูงนาน 6 เดือน หลังจากนั้นให้กลุ่มหนึ่งรับประทานเมล็ดเจียซัลบาวันละ 30 กรัมต่อพลังงาน 1,000 แคลอรี่ ส่วนกลุ่มควบคุมรับประทานรำข้าวโอ๊ตในปริมาณใกล้เคียงกัน ซึ่งผลชี้ว่ากลุ่มเมล็ดเจียมีน้ำหนักลดลง และรอบเอวเล็กลงมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ด้วยผลลัพธ์ที่ยังไม่สอดคล้องกันนี้จึงทำให้คุณสมบัติในการลดน้ำหนักของเมล็ดเจียมีความคลุมเครือและยังไม่อาจบอกได้ชัดเจนว่าจะได้ผล อีกทั้งยังขาดการศึกษายืนยันว่าควรการรับประทานอย่างไร ในปริมาณมากน้อยเท่าใดจึงจะดีที่สุด
ดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากมีการเชื่อมโยงคุณประโยชน์ของธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีต่อการลดโอกาสเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ ซึ่งก็อาจเป็นผลดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน จึงมีการศึกษาในด้านนี้ขึ้นมาพิสูจน์ โดยให้ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเป็นอย่างดี แบ่งกลุ่มรับประทานเมล็ดเจียชนิดซัลบาหรือรำข้าวสาลีประมาณ 37 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์
เมื่อเทียบกันแล้วพบว่าการรับประทานเมล็ดเจียสามารถช่วยลดระดับความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว หรือความดันโลหิตตัวบน ลดระดับโปรตีนที่ตอบสนองต่อการอักเสบภายในร่างกายซึ่งเชื่อว่าอาจส่งผลต่อโรคหัวใจบางชนิด รวมถึงลดปัจจัยการเกิดความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด ภาวะที่สามารถทำให้เกิดลิ่มเลือดอันเป็นสาเหตุของกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือโรคหลอดเลือดสมอง
กล่าวโดยสรุปคือ งานวิจัยนี้พบว่าเมล็ดเจียช่วยลดปัจจัยความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากอาจจะมีประสิทธิภาพควบคุมระดับไขมัน และคงระดับไขมันดีไว้ แต่การศึกษาที่ยกมานี้ก็ยังเป็นงานวิจัยเพียงขนาดเล็กที่ใช้ผู้ทดลองเพียง 20 คนเท่านั้น และการศึกษาเกี่ยวกับข้อดีของเมล็ดเจียด้านนี้ในปัจจุบันยังถือว่ามีอยู่น้อยมาก
เพิ่มความทนทานขณะออกกำลังกาย มีข้อมูลชี้ว่าการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงเป็นเวลาหลาย ๆ วันก่อนการแข่งขันกีฬาจะช่วยเพิ่มการสะสมไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ ส่งผลให้มีสมรรถภาพการออกกำลังกายในระยะยาวนานกว่า 90 นาทีดีขึ้นได้ ซึ่งก็มีการศึกษาประสิทธิภาพของการได้รับอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงอย่างการดื่มเครื่องดื่มโอเมก้า 3 ที่ประกอบด้วยแคลอรี่ 50 เปอร์เซ็นต์จากเมล็ดเจีย และแคลอรี่อีก 50 เปอร์เซ็นต์จากเครื่องดื่มเกลือแร่ เป็นเวลา 2 วัน เทียบกับการได้รับแคลอรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ เต็มจากเครื่องดื่มเกลือแร่
ผลการทดสอบดังกล่าวพบผลลัพธ์ที่ดีพอ ๆ กันในนักกีฬาทั้ง 2 กลุ่ม เครื่องดื่มโอเมก้า 3 ผสมเมล็ดเจียจึงอาจเป็นอีกตัวเลือกที่ให้ผลเพิ่มความทนทานในการออกกำลังกายระยะยาวนานกว่า 90 นาที ขณะเดียวกันก็ยังช่วยให้นักกีฬาลดการบริโภคน้ำตาล เพิ่มการได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 แทน แต่จะไม่ได้ช่วยให้สมรรถภาพในการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การศึกษานี้เป็นการทดลองขนาดเล็กในนักกีฬาเพียง 6 คน ควรต้องมีการศึกษาขนาดใหญ่ต่อไปเพื่อยืนยันผลลัพธ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับประโยชน์ด้านเดียวกัน แต่เป็นการใช้น้ำมันจากเมล็ดเจีย กลับพบผลลัพธ์ที่ต่างออกไป โดยในนักวิ่งจำนวน 24 คน ที่แบ่งกลุ่มดื่มน้ำ 0.5 ลิตรผสมน้ำมันเมล็ดเจีย 7 แคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือน้ำเปล่าอย่างเดียว แล้วเริ่มวิ่งจนหมดแรง กลุ่มที่ดื่มน้ำผสมน้ำมันเมล็ดเจียมีระดับกรดอัลฟาไลโนเลนิก ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่พบได้จากพืชในเลือดเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีส่วนช่วยเพิ่มระยะเวลาในการวิ่งให้นานกว่าเดิม รวมถึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงของการใช้ก๊าซออกซิเจนของร่างกาย หรือระดับฮอร์โมนบ่งบอกความเครียดและการอักเสบแต่อย่างใด งานวิจัยนี้จึงให้ข้อสรุปได้ว่าการใช้น้ำมันเมล็ดเจียผสมน้ำอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อนักกีฬา และด้วยผลที่ไม่สอดคล้องกันนี้ การศึกษาเพิ่มเติมจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการยืนยันคุณสมบัติเมล็ดเจียในข้อนี้
ลดอ้วนลงพุง ภาวะที่มีไขมันกระจายสะสมบริเวณรอบเอวมากกว่าบริเวณอื่น ๆ โดยอาจเกิดขึ้นร่วมกับความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดที่สูงขึ้น ซึ่งหากทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อมกันก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวานตามมาด้วย
จากผลการวิจัยที่ให้อาสาสมัครภาวะอ้วนลงพุงทั้งหมดลดการรับประทานอาหารน้อยลง 500 แคลอรี่ แต่กลุ่มหนึ่งมีการดื่มเครื่องดื่มที่ประกอบด้วยโปรตีนถั่วเหลือง โนปาล (กระบองเพชรชนิดหนึ่งที่กินได้) ข้าวโอ๊ต และเมล็ดเจียซึ่งคิดเป็นพลังงานทั้งหมด 235 แคลอรี่ เป็นเวลา 2 เดือน ส่วนอีกกลุ่มรับประทานแต่ยาหลอก
ผลปรากฏว่าทั้ง 2 กลุ่มต่างมีน้ำหนักของร่างกาย ดัชนีมวลกาย และขนาดรอบเอวลดลงในช่วงระหว่าง 2 เดือนที่ทำการทดลอง แต่กลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มดังกล่าวร่วมด้วยนั้นดูเหมือนจะมีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์และระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้นกว่ากลุ่มที่ลดพลังงานจากอาหารเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ผลที่แสดงให้เห็นนั้นก็ไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าเป็นผลมาจากอาหารชนิดใดที่ผสมลงในเครื่องดื่ม มีเมล็ดเจียเป็นหนึ่งปัจจัยแน่ชัดหรือไม่ หากมีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างเฉพาะเจาะจงต่อไปก็อาจบอกได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเมล็ดเจียจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาภาวะนี้เพียงใด
รักษาความดันโลหิตสูง มีการวิจัยศึกษาประสิทธิภาพของอาหารเสริมจากเมล็ดเจียชนิดหนึ่งต่อการลดระดับความดันโลหิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก พบว่าการรับประทานเมล็ดเจียบดวันละ 35 กรัม นาน 12 สัปดาห์ ส่งผลให้ผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตสูงทั้งที่กำลังรับยารักษาและไม่ได้รับยารักษา มีระดับความดันโลหิตลดลงโดยไม่ส่งผลต่อระดับความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวหรือความดันโลหิตไดแอสโตลิก การเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันลดลง ระดับไนไทรต์ในเลือดลดลง การรับประทานเมล็ดเจียจึงอาจมีบทบาททางการแพทย์ในการควบคุมรักษาภาวะระดับความดันโลหิตสูง แต่ก็ต่อเมื่อมีการศึกษาที่สามารถยืนยันได้โดยชัดเจนกว่าในปัจจุบันนี้แล้วเท่านั้น
โรคหัวใจและหลอดเลือด สารอาหารอันอุดมด้วยโปรตีน กรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดอัลฟาลิโนเลอิก แร่ธาตุ เส้นใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระในเมล็ดเจีย ทำให้เชื่อว่าอาจมีคุณประโยชน์ลดโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เช่นกัน ทว่าการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในด้านนี้ก็นับว่ายังมีน้อย และไม่ค่อยมีความสอดคล้องกันนัก
อย่างไรก็ตาม จากรายงานการทบทวนและวิเคราะห์งานวิจัยที่เคยมีมา รวมทั้งหมด 7 งานวิจัยด้วยกัน ผลการศึกษาส่วนใหญ่ชี้ว่าการรับประทานเมล็ดเจียไม่ได้มีส่วนช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างมีนัยสำคัญ โดยในงานวิจัยเหล่านี้พบเพียงงานเดียวที่กล่าวว่าระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ มวลร่างกาย และระดับตัวบ่งชี้การอักเสบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ยังเป็นการทดลองที่ใช้เมล็ดเจียผสมกับอาหารชนิดอื่น จึงไม่อาจแน่ใจว่าผลลัพธ์ที่ได้เกิดจากการรับประทานเมล็ดเจียโดยแท้จริง และยังมีบางงานวิจัยที่สุ่มเสี่ยงต่อการรวบรวมและสรุปผลที่เอนเอียง ทำให้หลักฐานในปัจจุบันยังไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ
การใช้ประโยชน์จากเมล็ดเจียอย่างปลอดภัย
เมล็ดเจียค่อนข้างมีความปลอดภัยต่อร่างกาย หากรับประทานเป็นเวลาไม่เกิน 12 สัปดาห์ หรือเมื่อใช้น้ำมันเมล็ดเจียทาลงบนผิวหนังติดต่อกันไม่นานกว่า 8 สัปดาห์ ส่วนการใช้ในระยะที่ยาวกว่านี้ยังไม่มีข้อมูลที่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้ยังควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
- หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่อาจยืนยันได้ว่าการใช้เมล็ดเจียระหว่างการตั้งครรภ์หรือเมื่อให้นมบุตรจะปลอดภัย ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานในช่วงนี้
- การรับประทานเมล็ดเจียบางชนิดอาจส่งผลให้ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ ผู้ที่มีไขมันชนิดนี้สูงอยู่แล้วจึงควรเลือกรับประทานเฉพาะเมล็ดเจียชนิดซัลบา (Salba) ซึ่งจะไม่ทำให้ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นมากนัก
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเมล็ดเจียในปริมาณมาก เพราะในเมล็ดเจียประกอบด้วยกรดอัลฟาลิโนเลนิกจำนวนมาก และมีงานวิจัยที่กล่าวว่าการได้รับกรดชนิดนี้มาก ๆ จากอาหารอาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้
ทั้งนี้ ปริมาณการรับประทานเมล็ดเจียที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น อายุ สุขภาพโดยรวม หรือโรคประจำตัวของผู้ที่รับประทาน ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์จากเมล็ดเจียใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้แน่ใจ และอ่านคำแนะนำบนฉลากอย่างถ้วนถี่เสมอ