แชร์บทความต่อ
ผลวอลนัท

แม้วอลนัทจะเป็นตัวที่ไม่ได้ปลูกในประเทศไทย  แต่เจ้าวอลนัท ถั่วรูปร่างแปลกตานี้กลับอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญหลายชนิด เช่น วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร ไขมันดี โอเมก้า 3 และสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น นักวิจัยจึงเชื่อว่า วอลนัทอาจช่วยรักษาและป้องกันโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะไขมันในเลือดสูง อีกทั้งยังเหมาะกับผู้ที่ต้องการลดความอ้วนด้วย เพราะการกินวอลนัทอาจช่วยควบคุมน้ำหนักได้

วอลนัทจัดเป็นถั่วเปลือกแข็ง ที่รู้จักกันแพร่หลายและเป็นที่ต้องการของตลาดมากมี 4 ชนิด คือ Persian (หรือ English walnut) Black walnut (หรือ American walnut) Japanese walnut และ Butternut (หรือ American white walnut)

ต้นวอลนัท

สำหรับชนิดที่แพร่หลาย คือ Persian walnut ศูนย์กลางในการผลิตพบที่แถบมลรัฐเคลิฟอร์เนียของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอินเดีย จีน ยุโรปตอนใต้และตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศอิตาลี โปแลนด์ และฝรั่งเศสตอนใต้ การเก็บเกี่ยวกระทำเมื่อเยื่อบางๆ (packing membrane) ที่อยู่ระหว่างกลาง (two halves) เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ซึ่งสามารถร่วงหล่นจากต้นได้เมื่อเขย่าต้น

นำวอลนัทาทำความสะอาด เอาเปลือกแข็งส่วนนอกออกทำให้แห้งโดยเร็วโดยอุณหภูมิไม่เกิน 43 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันการหืนที่จะเกิดภายหลัง ความชื้นภายในส่วนเนื้อให้เหลือประมาณร้อยละ 4 นำไปจำหน่าย ส่วนที่ไม่ได้นำเปลือกออก มักนำไปจำหน่ายโดยการบรรจุพร้อมด้วยนัทชนิดอื่นสำหรับใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น จำหน่ายในวันคริสต์มาส การเอาเปลือกออก สามารถทำได้ด้วยเครื่อง ส่วนเนื้อที่นำเปลือกออกแล้วสามารถนำไปใช้ในการสกัดน้ำมัน หรือใช้เป็นส่วนผสมของน้ำสลัด (salad dressing) หรือส่วนผสมของอาหารขบเคี้ยว

ทำไมวอลนัทจึงดีต่อสุขภาพ ?

วอลนัทเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญมากมาย ทั้งใยอาหาร ไขมันดี เกลือแร่ และวิตามิน นอกจากนี้ วอลนัทยังเป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระและโอเมก้า 3 ด้วย ซึ่งมีคุณสมบัติส่งเสริมสุขภาพร่างกาย วอลนัทมีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

สารต้านอนุมูลอิสระ เป็นสารที่ช่วยป้องกันหรือยับยั้งความเสียหายของเซลล์ที่เกิดขึ้นจากสารอนุมูลอิสระอันเป็นปัจจัยก่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด เป็นต้น โดยวอลนัทประกอบด้วยสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด อย่างวิตามินอี เมลาโทนิน และพอลีฟีนอล ซึ่งพบสารเหล่านี้ได้มากในเยื่อหุ้มเมล็ด และยังมีงานวิจัยพบว่า การกินอาหารที่มีวอลนัทเป็นส่วนผสมหลักอาจช่วยป้องกันอันตรายจากไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีได้ด้วย

กรดไขมันโอเมก้า 3 วอลนัทมีกรดลิโนเลนิก (Alpha Linolenic Acid: ALA) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งร่างกายจะเปลี่ยนสาร ALA ที่กินเข้าไปให้กลายเป็นโอเมก้า 3อันเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายและลดความเสี่ยงของโรคบางชนิดด้วย ในวอทนัท 28 กรัม อาจมี ALA มากถึง 2.5 กรัม ซึ่งถือว่ามีปริมาณค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับถั่วชนิดอื่น ทั้งนี้ ผู้ชายควรได้รับ ALA วันละ 1.6 กรัม ส่วนผู้หญิงควรได้รับ ALA วันละ 1.1 กรัม โดยในปัจจุบันมีงานวิจัยที่พบว่าการกินอาหารที่มี ALA ในปริมาณพอเหมาะอาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

จากข้อมูลต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับวอลนัท หลายคนจึงเชื่อว่าการบริโภคถั่วชนิดนี้อาจช่วยป้องกันหรือรักษาโรคและอาการผิดปกติบางอย่างได้ อย่างโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะไขมันในเลือดสูง อีกทั้งอาจช่วยควบคุมน้ำหนักได้ด้วย